วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กฎหมาย ถามตอบ

กฎหมาย

ถาม-ตอบปัญหา?



1. กฎหมาย คืออะไร?
           กฎหมาย  คือข้อบังคับ   กติกาของรัฐหรือของชาติ กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้บังคับ  ควบคุม
ความประพฤติของบุคคลในสังคม ให้ปฏิบัติตาม   หากมีการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดและได้รับโทษตามที่กำหนดไว้


2. ลักษณะสำคัญของกฎหมาย มีอะไบ้าง?                                                                    
           ลักษณะสำคัญของกฎหมาย
  1.  กฎหมายต้องมาจากรัฐาธิปัตย์
                  รัฐาธิปัตย์ หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐ    เช่น  ผู้นำสูงสุด  หรือหัวหน้าคณะปฎิวัติในระบอบการปกครองแบบเผด็จการ   พระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช        ส่วนในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยพระมหากษัตริย์ตรากฎหมายโดยความยินยอมจากฝ่ายนิติบัญญัติ คือรัฐสภา

     2.  กฎหมายเป็นข้อบังคับใช้ได้ทั่วไป
                 กฎหมายที่ถูกบัญญัตินำมาประกาศใช้แล้ว จะต้องใช้ได้ทุกสถานที่ภายในรัฐ และใช้บังคับบุคคลทั่วไปโดยเสมอภาค  หากมีการยกเว้นแก่บุคคลใดกฎหมายจะระบุไว้

      3. กฎหมายเป็นข้อบังคับใช้ได้เสมอไป
                      กฎหมายที่ถูกบัญญัตินำมาประกาศใช้แล้ว  ต้องมีผลการบังคับใช้ได้ตลอดไป ยาวนานกี่ปีก็มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิก

      4. กฎหมายเป็นข้อบังคับใช้ที่ทุกคนต้องปฎิบัติตาม
                      เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายแล้ว  บุคคลหรือประชาชนจะพึงพอใจหรือไม่ก็ตาม ต้องปฏิบัติตาม
       5.  กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ
                      เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายแล้ว ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมาย หากบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามจะได้รับโทษตามที่กฎหมายนั้น ๆ กำหนดไว้  เช่นการเสียสิทธิ   การชดใช้สินไหมทดแทน หรือการถูกลงโทษทางอาญา เช่น ริบทรัพย์  ปรับ  กักขัง  จำคุก  และสูงสุดคือประหารชีวิต

3. กฎหมายมีความสำคัญหรือมีประโยชน์อย่างไร?
            กฎหมายมีความสำคัญต่อสังคมในด้านต่างๆ ดังนี้

      1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ  เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม

      2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

      3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม

      4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น

4. การแบ่งประเภทของกฎหมาย มีการแบ่งตามหลักเกณฑ์ใบ้าง?
       กฎหมายแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่กฎหมายภายในซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยองค์กรที่มีอำนาจภายในรัฐหรือประเทศและกฎหมายภายนอกซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นจากสนธิสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ
   กฎหมายภายในและกฎหมายภายนอก ยังอาจแบ่งย่อยได้อีกหลายลักษณะ ตามหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

   กฎหมายภายใน แบ่งได้หลายลักษณะตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
   1.ใช้เนื้อหาของกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์การแบ่ง
 แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
     1.1กฎหมายลายลักษณ์อักษร
 ได้แก่ ตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยองค์กรที่มีอำนาจตามกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติต่าง ๆ ฯลฯ เป็นต้น
     1.2กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
 ได้แก่ จารีตประเพณีต่าง ๆ ที่นำมาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องที่มาของกฎหมาย ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรค 2 ว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดที่จะยกมาปรับแก้คดีได้ท่านให้วินิจฉัยคดีนั้นตามคลอง จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น”
                                                            
           2.ใช้สภาพบังคับกฎหมายเป็นหลักในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
     
2.1กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญา ได้แก่ กฎหมายต่าง ๆ ที่มีโทษตามบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ประมวลกฎหมายอาญาพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร ฯลฯ เป็นต้น
     2.2กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง 
สภาพบังคับทางแพ่งมิได้มีบัญญัติไว้ชัดเจนเหมือนสภาพบังคับทางอาญาแต่ก็อาจสังเกตได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การบังคับชำระหนี้ การชดใช้ค่าเสียหาย หรืออาจสังเกตได้อย่างง่าย ๆ คือ กฎหมายใดที่ไม่มีบทบัญญัติกำหนดโทษทางอาญา ก็ย่อมเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง
   
   3.ใช้บทบาทของกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
     3.1กฎหมายสารบัญญัติ
 ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของความผิดโดยทั่วไปแล้วกฎหมายส่วนใหญ่ จะเป็นกฎหมายสารบัญญัติ
     3.2กฎหมายวิธีสบัญญัติ
 ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงวิธีการที่จะนำกฎหมายสารบัญญัติไปใช้ว่าเมื่อมีการทำผิดบท บัญญัติกฎหมาย จะฟ้องร้องอย่างไร จะพิจารณาตัดสินอย่างไร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ กฎหมายวิธีสบัญญัติก็คือ กฎหมายที่กล่าวถึงวิธีการเอาตัวผู้กระทำผิดไปรับสภาพบังคับนั่นเองเช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกฎหมายวิธีพิจารณาความในศาลแขวงกฎหมายวิธีพิจารณา คดีเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น
   
    4.ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
     4.1กฎหมายเอกชน ได้แก่กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยที่รัฐไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด เป็นต้น

     4.2กฎหมายมหาชน
ได้แก่ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในฐานะที่รัฐเป็นผู้ ปกครองจงต้องมีอำนาจบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบสุข เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความต่าง ๆ เป็นต้น
   
กฎหมายภายนอก กฎหมายภายนอก หรือกฎหมายระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
    1.กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
 ได้แก่ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐที่จะปฏิบัติต่อกันเมื่อมี ความขัดแย้งหรือเกิดข้อพิพาทขึ้น เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ หรือได้แก่ สนธิสัญญา หรือเกิดจากข้อตกลงทั่วไป ระหว่างรัฐหนึ่งกับรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐที่เป็นคู่ประเทศภาคีซึ่งให้สัตยาบัน ร่วมกันแล้วก็ใช้บังคับได้เช่น สนธิสัญญาไปรษณีย์สากล เป็นต้น
    2.กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
 ได้แก่ บทบัญญัติที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่งเมื่อ เกิดความขัดแย้งข้อพิพาทขึ้นจะมีหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาตัดสินคดีความอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน เช่น ประเทศไทยเรามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกับแห่งกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับกับบุคคลที่อยู่ในประเทศไทยกับบุคคลที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ
    3.กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาได้แก่ สนธิสัญญา หรือข้อตกลงเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งประเทศหนึ่งยินยอมหรือ รับรองให้ศาลของอีกประเทศหนึ่งมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีและลงโทษบุคคลประเทศ ของตนที่ไปกระทำความผิดในประเทศนั้นได้ เช่นคนไทยไปเที่ยวสหรัฐอเมริกาแล้วกระทำความผิด ศาลสหรัฐอเมริกาก็พิจารณาตัดสินลงโทษได้หรือบุคคลประเทศหนึ่งกระทำความผิด แล้วหนีไปอีกประเทศหนึ่ง เป็นการยากลำบากที่จะนำตัวมาลงโทษได้ จึงมีการทำสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อให้ประเทศที่ผู้กระทำความผิดหนีเข้าไปจับตัวส่งกลับมาลงโทษ ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรม ปัจจุบันนี้ประเทศไทยทำสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม และอิตาลี ฯลฯ เป็นต้น




5. ให้นักเรียนเขียน ศักดิ์ หรือลำดับชั้นของกฎหมาย เรียงจากสูงไปหาต่ำ?

ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายไทย แบ่งอย่างละเอียดเป็น 7 ชั้น ได้แก่
  1. รัฐธรรมนูญ
  2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
  3. พระราชบัญญัติ
  4. พระราชกำหนด
  5. พระราชกฤษฎีกา
  6. กฎกระทรวง
  7. ข้อบัญญัติท้องถิ่น ได้แก่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา


6. ที่มาของกฎหมายในระบบ Civil Law มีอะไรบ้าง?                ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค (Romano Germanic Law) / Civil law
คำว่า “โรมาโน” หมายถึง กรุงโรม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอิตาลี ส่วนคำว่า “เยอรมันนิค” หมายถึง ชาวเยอรมัน การที่ตั้งชื่อระบบกฎหมายเช่นนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศอิตาลีและ ประเทศเยอรมัน เนื่องจาก อิตาลีเป็นประเทศแรกที่รื้อฟื้นกฎหมายโรมันในอดีตขึ้นมาปรับใช้กับประเทศของ ตน โดยเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1110 ประเทศอิตาลีเริ่มมีการพัฒนาประเทศทำให้มีการค้าขายมากขึ้น มีการค้าขายระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองขึ้น กฎหมายในประเทศซึ่งมีอยู่เดิมใช้บังคับไม่เพียงพอที่จะนำมาปรับใช้บังคับกับ ข้อเท็จจริงในระบบเศรษฐกิจที่มีความยุ่งยากซับซ้อน จึงได้มีการฟื้นฟูกฎหมายโรมันขึ้นมาใช้ โดยมีการนำมาศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยที่เมืองโบลอกนา (Bologna) ปรากฏว่ากฎหมายโรมันมีบทบัญญัติที่สามารถใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ และเห็นว่ากฎหมายโรมันใช้ได้และเป็นธรรม ประเทศอิตาลีจึงได้รับเอากฎหมายโรมันมาบัญญัติใช้บังคับในเวลาต่อมาและ กฎหมายโรมันจึงได้ถูกถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาทั่วไป 
ประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่สองที่ได้รับเอากฎหมาย โรมันมาใช้เช่นเดียวกันกับประเทศอิตาลี ต่อมาประเทศต่าง ๆ ในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ สเปน ได้นำกฎหมายโรมันมาปรับใช้กับประเทศของตนเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิคนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศใน ภาคพื้นยุโรป แต่ปัจจุบันระบบกฎหมายนี้มีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วโลกในทวีปต่างๆ ไม่ว่าทวีปอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส หรือเม็กซิโก ชิลี เปรู อาร์เจนตินา ที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปน แม้กระทั่งประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ซาอีร์ โซมาเลีย รวันดา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสก็ได้รับอิทธิพลของระบบกฎหมายโรมาโน-เยอร มันนิคทั้งสิ้น และประเทศแถบเอเชียบางประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทยด้วย

7. ที่มาของกฎหมายในระบบ Common Law มีอะไรบ้าง?
             ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) 
ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์นั้นมีต้นแบบมาจากประเทศ อังกฤษ ซึ่งเดิมก่อนศตวรรษที่ 11ประเทศอังกฤษยังไม่เป็นปึกแผ่นโดยแบ่งการปกครองเป็นตามแคว้นหรือเผ่าของตน เอง มีระบบกฎหมายและระบบศาลตามเผ่าของตนเองไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่อมาประมาณศตวรรษที่ 10-15 พระเจ้าวิลเลี่ยม ดยุคแห่งแคว้นนอร์มังดีของฝรั่งเศสได้ยกกองทัพเข้ายึดครองเกาะอังกฤษหลังจาก การสู้รบกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยผลัดกันยกกองทัพไปรบ การรบครั้งแรกก็ไม่ได้ชัยชนะ 
ต่อมาก็บุกเข้าไปยึดครองอังกฤษได้ เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในอังกฤษยอมสวามิภักดิ์และยอมอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้าวิลเลี่ยมหรือดยุค แห่งนอร์มังดี นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวบรวมและปกครองเกาะอังกฤษให้เป็นอันหนึ่งอัน เดียวกันภายใต้การนำของดยุคแห่งนอร์มังดี อังกฤษจึงเป็นปึกแผ่นครั้งแรกตามประวัติศาสตร์ 
อย่างไรก็ตามการปกครองในครั้งนั้นพระเจ้าวิ ลเลี่ยมมิได้เลิกอำนาจของหัวหน้าเผ่าหรือนำวัฒนธรรม อารยธรรมของนอร์มังดีเข้าไปใช้ในเกาะอังกฤษ แต่ใช้ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ของยุโรปภาคพื้นทวีปผสมผสานไปกับระบบที่เป็น อยู่ของเผ่าต่าง ๆ บนเกาะอังกฤษโดยทรงถือว่าพระองค์เป็นเจ้าของราชอาณาจักรเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วแบ่งดินแดนต่าง ๆ ให้กับขุนนางและยอมรับเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ของอังกฤษที่ยอมเข้าสวามิภักดิ์เป็นขุนนางของพระองค์ ดังนั้นระบบศักดินาสวามิภักดิ์จึงเข้าไปฝังรากในอังกฤษด้วยพระเจ้าวิลเลี่ยม เป็นกษัตริย์ มีขุนนางปกครองแคว้นต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไปจากแคว้นนอร์มังดี เป็นการตอบแทนที่ทำสงครามชนะ อีกส่วนหนึ่งก็คือบรรดาหัวหน้าเผ่าที่ยอมสวามิภักดิ์  การใช้กฎหมายต่าง ๆ ใช้กฎหมายชนเผ่าต่อไปตามเดิม 
ต่อมาพระเจ้าวิลเลี่ยมเห็นความจำเป็นว่าถ้าจะทำ ให้การปกครองเป็นเอกภาพเป็นปึกแผ่นและอำนาจของพระองค์เข้มแข็ง จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีกฎหมายที่เหมือนกันใช้ร่วมกันทั้งประเทศหรือทั่ว ทั้งราชอาณาจักร ถ้าปล่อยให้แต่ละแคว้นมีระบบกฎหมาย ระบบการบริหาร ระบบตัดสินคดีความของตัวเองแตกต่างกันไปหมด การที่จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่นย่อมจะเป็นไปไม่ได้ การที่จะทำให้สังคมชาติมีความเป็นปึกแผ่น มีความเป็นรัฐที่มีการจัดระเบียบที่ดีจะต้องทำอยู่ 2 อย่าง คือ การจัดระบบกฎหมายเสียใหม่ทั้งรัฐให้เหมือนกัน และจัดระบบการปกครองที่ทำให้อำนาจนั้นมีเอกภาพ ดังนั้น พระเจ้าวิลเลี่ยม จึงจัดตั้งศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) ขึ้น 
               กฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) เป็นกฎหมายที่วิวัฒนาการมาจากคำพิพากษาของศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’s Court) อันเนื่องมาจากเดิมการพิจารณาคดีของศาลในแคว้นต่างๆ มีการพิจารณาคดีตามจารีตประเพณีของแคว้นหรือชนเผ่าตนเอง ทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีการกระทำความผิดหรือมีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเกิด ขึ้นต่างแคว้นกัน ศาลในแต่ละแคว้นตัดสินแตกต่างกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น ดังนั้น พระเจ้าวิลเลี่ยม จึงจัดตั้งศาลพระมหากษัตริย์หรือศาลหลวง (King’sCourt)โดยมีการคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีความรู้ ความสามารถจากส่วนกลางหมุนเวียนออกไปพิจารณาคดีในศาลท้องถิ่นทั่วทุกแคว้น มีการพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน (Inquisitorial System) แทนการพิจารณาคดีแบบเดิม โดยถือว่าเมื่อศาลหลวงมีคำพิพากษาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอย่างใดแล้วศาลอื่น ๆ ต้องผูกพันพิพากษาคดีตามศาลหลวง ซึ่งในระยะต้น ๆ มีปัญหาขัดแย้งในการพิพากษาคดีมาก เพราะแต่ละแคว้นก็มีจารีตประเพณีเป็นของตนเอง การใช้กฎหมายบังคับจึงต้องใช้กฎหมายจารีตประเพณีของแต่ละท้องถิ่น แต่ในระยะต่อมาความขัดแย้งเหล่านี้ค่อย ๆ หมดไปเกิดเป็นจารีตประเพณีที่ถือเป็นหลักเกณฑ์และข้อบังคับที่มีลักษณะเป็น สามัญ (Common) และใช้กันทั่วไปในศาลทุกแคว้น ด้วยเหตุนี้กฎหมายคอมมอน ลอว์ จึงเริ่มเกิดขึ้นประเทศอังกฤษนับแต่นั้นเป็นต้นมา 
เนื่องจากจารีตประเพณีที่ใช้บังคับมิได้มีการ บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ศาลจึงเป็นผู้ที่นำจารีตประเพณีมาใช้และพิจารณาพิพากษาคดีโดยอาศัยประเพณี ดังกล่าว คำพิพากษาศาลได้มีการบันทึกเอาไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ผู้พิพากษาคนต่อ ๆ มาใช้เป็นแบบอย่าง (Precedent)กล่าวคือ เมื่อศาลใดได้วินิจฉัยปัญหาใดไว้ครั้งหนึ่งแล้วศาลต่อ ๆ มาซึ่งพิจารณาคดี ซึ่งมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันย่อมต้องผูกพันในอันที่จะต้องพิพากษาตาม คำพิพากษาก่อน ๆ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างนั้นด้วยคำพิพากษาของศาลจึงมีลักษณะเป็นกฎหมายอย่าง หนึ่ง
แม้ว่าศาลจะนำกฎหมายคอมมอน ลอว์ มาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกันทั่วประเทศแล้วก็ ตามแต่กฎหมายคอมมอน ลอว์ ก็ยังมีช่องว่างและไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ทุกเรื่อง อันเนื่องจากสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและความซับซ้อนของเศรษฐกิจ คำพิพากษาของศาลที่มีอยู่ไม่อาจใช้บังคับกับข้อเท็จจริงบางเรื่องได้ส่งผล ให้ไม่อาจจะนำกฎหมายคอมมอน ลอว์ มาใช้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมได้
 


ครั้นต่อมาเมื่อรัฐสภาอังกฤษมีอำนาจมากขึ้น ได้มีการตรากฎหมายลายลักษณ์อักษร (Statutory Law) ขึ้นใช้บังคับอย่างแพร่หลาย โดยถือว่าเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องและเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายคอมมอน ลอว์ซึ่งเป็นหลักทั่วไป ระบบคอมมอน ลอว์ ปัจจุบันมีที่ใช้อยู่ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา  แคนาดา  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  และประเทศที่เคยอยู่ในเครือจักรภพของอังกฤษ เป็นต้น 

8. ระบบกฎหมายในปัจจุบันมีกี่ระบบ ระบบใดบ้าง?
                   ระบบกฎหมาย ในปัจจุบัน มี 4 ระบบ ดังนี้

  • ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law System)
เป็นระบบที่ใช้กันในเครือจักรภพอังกฤษและในสหรัฐอเมริกา โดยจะใช้คำพิพากษาที่ศาลเคยวางหลักไว้แล้วเป็นหลักในการพิจารณา ระบบนี้มีกฎหมายที่บัญญัติโดยรัฐสภาเช่นเดียวกับประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย แต่ระบบกฎหมายทั่วไปนี้ จะให้อำนาจผู้พิพากษาในการตีความกฎหมายอย่างมาก จึงลดทอนความสำคัญของกฎหมายของรัฐสภาลง และจะตีความในลักษณะจำกัดเท่าที่ลายลักษณ์อักษรไว้บัญญัติเท่านั้น ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบนี้ในปัจจุบันนั้น ได้แก่ เครือจักรภพอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อินเดีย เป็นต้น
  • ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law System)
เป็นระบบที่ใช้กันในภาคพื้นทวีปยุโรป โดยมีหลักกฎหมายซึ่งสืบทอดมาจากหลักกฎหมายโรมัน ในการเรียนการสอนกฎหมายของบางประเทศ เช่น เยอรมัน จะต้องเรียนรู้ภาษาลาตินก่อนจึงจะสามารถเรียนกฎหมายได้ ประมวลกฎหมายสำคัญซึ่งเป็นที่ยอมรับกันและเป็นตัวอย่างให้กับนานาประเทศ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ระบบกฎหมายนี้ ผู้พิพากษาสามารถตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรในลักษณะขยายความได้ โดยมีหลักว่า ผู้พิพากษาจะต้องค้นหากฎหมายที่จะนำมาตัดสินคดีความจากกฎหมายลายลักษณ์อักษรก่อน หากไม่ได้จึงจะใช้หลักกฎหมายทั่วไป และกฎหมายจารีตประเพณี ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบนี้ในปัจจุบันนั้น ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น ประเทศสแกนดิเนเวีย รวมทั้งประเทศไทย เป็นต้น
  • ระบบกฎหมายศาสนา (Religious Law System)
หมายถึงระบบกฎหมายที่พึ่งพิงกับระบบทางศาสนาหรือใช้คัมภีร์ทางศาสนาเป็นกฎหมาย ซึ่งมักจะมีวิธีการใช้กฎหมายที่แตกต่างกันออกไป อาทิ การใช้ฮาลัคกาห์ของยิวในกฎหมายมหาชน ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้ lขณะที่การใช้กฎหมายอิสลามขี่นอยู่กับบรรทัดฐานการใช้กฎหมายที่มีมาก่อนและการตีความด้วยการเทียบเคียงเป็นต้น ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบนี้ในปัจจุบันนั้น ได้แก่ อัฟกานิสถาน ลิเบีย อิหร่าน เป็นต้น
  • ระบบกฎหมายผสมผสาน (Pluralistic Systems)

หมายถึงระบบที่ใช้การผสมผสานจากสามระบบข้างต้น ซึ่งมักเกิดจากอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างระบบกฎหมายขึ้น เช่น มาเลเชียใช้ระบบกฎหมายทั่วไปเป็นหลักผสมผสานกับระบบกฎหมายศาสนา อิยิปต์ใช้ระบบกฎหมายศาสนาเป็นหลักผสมผสานกับระบบประมวลกฎหมาย เป็นต้น

9. ประเทศไทย เป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายใด?
                 Civil Law
10. องค์ประกอบสำคัญของ "รัฐ" มีอะไรบ้าง?
         องค์ประกอบสำคัญของรัฐ มี 4 ประการ คือ 
 1.ประชากร รัฐทุกรัฐจะต้องมีประชากรจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจุดมุ่งหมายและมีประโยชน์ร่วมกัน จำนวนประชากรของแต่ละรัฐอาจมีมากน้อยแตกต่างกันไป ที่สำคัญคือ จะต้องมีประชากรดำรงชีพอยู่ภายในขอบเขตของรัฐนั้น


2.ดินแดน รัฐต้องมีดินแดนอันแน่นอนของรัฐนั้น กล่าวคือ มีเส้นเขตแดนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั้งโดยข้อเท็จจริงและโดยสนธิสัญญา ทั้งนี้รวมถึงพื้นดิน พื้นน้ำและพื้นอากาศ



3.อำนาจอธิปไตย อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจรัฐ หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ทำให้รัฐสามารถดำเนินการทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองภายในและภายนอก



4.รัฐบาล รัฐบาลคือ องค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินงานของรัฐในการปกครองประเทศ รัฐบาลเป็นผู้ทำหน้าที่สาธารณะสนองเจตนารมย์ของสาธารณชนในรัฐ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและป้องกันการรุกรานจากรัฐอื่น รัฐบาลเป็นองค์กรทางการเมืองที่ขาดไม่ได้ของรัฐ